EN TH

เรียนรู้วัฒนธรรมมอญ

       มอญปากลัด หรือ มอญที่อาศัยอยู่บริเวณพระประแดง สืบเชื้อสายมาจากชาวมอญที่อพยพเข้ามายังประเทศไทย ในสมัยกรุงธนบุรี และสมัยรัชการที่ 2 โดยในสมัยกรุงธนบุรี ชาวมอญจะตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณเมืองสามโคก และปากเกร็ด ต่อมาในสมัยรัชการที่ 2 โปรดให้ย้ายครัวมอญมาดูแลป้องปราการและเมืองนครเขื่อนขันธ์

       ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2358 (รัชกาลที่ 2) มีชาวมอญอพยพเข้ามาไทยอีกครั้ง ทั้งนี้มีสาเหตุมาจาก ชาวมอญไม่พอใจพระเจ้าปะดุงของพม่า ที่เกณฑ์คนไปสร้างพระเจดีย์ใหญ่ จึงก่อกบฏที่เมืองเมาะตะมะ ภายหลังถูกปราบปรามอย่างทารุณจนต้องหนีเข้ามายังประเทศไทย ว่ากันว่ามีชาวมอญอพยพมาในคราวนั้นทั้งสิ้นกว่า 40,000 คน นับเป็นการอพยพครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ต่อมารัชกาลที่ 2 โปรดฯ พระราชทานที่ทํากินบริเวณปากเกร็ด สามโคก และเมืองนครเขื่อนขันธ์ให้แก่ชาวมอญเหล่านั้น

       ปัจจุบันใน อำเภอ พระประแดง มีชุมชนมอญทั้งสิ้น 16 หมู่บ้าน โดยตำบลทรงคะนอง ซึ่งเป็นหนึ่งในหก ตำบลของคุ้งบางกะเจ้า มีชุมชนมอญอาศัยอยู่ 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 7 บ้านโรงเรือ หมู่ที่ 8 บ้านทรงคนอง และหมู่ที่ 9 บ้านหัวรอ เอกลักษณ์โดดเด่นที่พบได้ในชุมชนมอญพระประแดงคือ ชื่อหมู่บ้านยังเป็นภาษามอญ หลายหมู่บ้านยังใช้ชื่อเดียวกับหมู่บ้านในพม่า เช่น บ้านทรงคนอง

บ้านเรือน

       นิยมสร้างบ้านบริเวณที่ราบลุ่ม ใกล้แม่น้ำ ลำคลอง เพราะคนมอญมีอาชีพทำนา ทำสวน คนมอญมีความเชื่อว่า การสร้างบ้านต้องหันเรือนให้ห้องที่มีเสาเอก (เสาผี) ของบ้านอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งจะเป็นห้องแรกที่รับแสงแดงยามเช้า และเงาของคนที่อาศัยอยู่ในบ้านก็จะได้ไม่ไปทับกับเสาเอก ซึ่งเป็นสิ่งที่คนมอญเคารพสูงสุดรองจากพระพุทธเจ้า โดยปกติห้องนี้จะเป็นห้องนอนของหัวหน้าครอบครัว (พ่อ แม่) บ้านของชาวมอญจะทำประตูบ้านไว้ทางทิศเหนือ หรือทิศตะวันตก เพราะเชื่อว่าเป็นทิศสำหรับคนตาย ดังนั้นเวลาที่มีคนตายในบ้าน ศพจะถูกนำออกทางประตูนี้ และคนในบ้านจะไม่นอนเอาศีรษะไปทางทิศเหนือ และทิศตะวันตกด้วย เพาะถือว่าไม่เป็นมงคล

วัดคันลัด

       สร้างประมาณ พ.ศ. 2349 เมื่อชาวมอญเริ่มอพยพเข้ามาอยู่ที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ จึงเลือกวัดคันลัดที่มีอยู่เดิมเป็นวันประจำหมู่บ้าน (เมื่อคนมอญสร้างบ้านเรือน จะต้องมีวัดประจำหมู่บ้านนั้นๆ เสมอ) และนิมนต์พระชาวมอญมาจำพรรษา

       พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดคือ หลวงพ่อหินอ่อน (มัณฑะเลย์) แต่เดิมวัดนี้ใช้เป็นที่ฝังช้างหลวง เรียกว่า “สุสานช้างหลวง” มีหลักฐานว่าปลายรัชกาลที่ 2 เมื่อพระยาเศวตคชลักษณ์ล้ม และในสมัยรัชกาลที่ 3 พระยามงคลหัสดินทร์ล้ม ก็โปรดเกล้าฯ ให้นำศพพระยาช้างไปฝังที่บริเวณปากลัด ซึ่งก็คือบริเวณวัดคันลัด มีการขุดพบกระดูกช้างเป็นจำนวนมากในวัดแห่งนี้

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านมอญ

       เป็นแหล่งเรียนรู้ ขนบธรรมเนียม ประเพณี ศิลปวัฒนธรรมของคนเชื่อสายมอญ โดยจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ ต่างๆ ของชาวมอญ ตั้งอยู่ในวัดคันลัด

อาหารมอญ

       ชาวมอญนิยมกินแกงรสเปรี้ยว และนิยมปรุงอาหารด้วยผักที่หาได้ทั่วไป โดยเฉพาะผักที่มีเมือกลื่นและมีรสเปรียว มีผักชนิดหนึ่งมีผูกพันกับวิถีชีวิตของคนมอญอย่างมากตั้งแต่เกิดจนตาย นั้นคือ ใบส้มป่อย เพราะคนมอญเชื่อว่าเป็นใบไม้ศักดิ์สิทธิ์ มีการนำใบส้มป่อยไปใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น งานบวช งานแต่ง หรืองานศพ