รู้จักคุ้งบางกะเจ้า
ระบบนิเวศ 3 น้ำ
คุ้งบางกะเจ้าตั้งอยู่ในอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ครอบคลุมพื้นที่ 6 ตำบล ได้แก่ บางน้ำผึ้ง
บางยอ บางกระสอบ บางกะเจ้า บางกอบัว และทรงคนอง เนื้อที่ประมาณ 11,818 ไร่
ด้วยลักษณะเป็นเกาะล้อมรอบด้วยแม่น้ำเจ้าพระยา และตั้งอยู่ไม่ไกลจากอ่าวไทย
จึงทำให้คุ้งบางกะเจ้าได้รับอิทธิพลจากระดับน้ำทะเลขึ้นลง เกิดเป็นระบบนิเวศ “3 น้ำ” คือ น้ำจืด น้ำเค็ม
และน้ำกร่อย กลายเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์
และมีความหลากหลายของสังคมพืชและสัตว์สูง
จากรายงานการสำรวจของนักวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัยในกิจกรรมชีวตะลุมบอน เมื่อวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2557 พบว่าในคุ้งบางกะเจ้า มีสิ่งมีชีวิตทั้งหมด 637 ชนิด ซึ่งร่วมถึงชนิดพันธุ์หายากและบางชนิดคาดว่าเป็นชนิดใหม่ของโลกด้วย เช่น
-
ไส้เดือนมีปีกริมตลิ่ง สกุล Glyphidrilus
ซึ่งเป็นการค้นพบครั้งแรกของไส้เดือนมีปีกในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างและคาดว่าจะเป็นชนิดใหม่ของโลก
-
กุ้งเต้นสีชมพู สกุล Allochestes
เป็นรายงานการค้นพบครั้งแรกของสกุลนี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- ไส้เดือนฝอย สกุล Enchytraeus เป็น รายงานการค้นพบครั้งแรกในประเทศไทย
-
พบหิ่งห้อย 4 ชนิด คือ กลุ่มหิ่งห้อยน้ำกร่อย 2 ชนิด กลุ่มหิ่งห้อยน้ำจืด 1 ชนิด และ
กลุ่มหิ่งห้อยบก 1 ชนิด ซึ่งเป็นชนิดที่หายากพอสมควรในเขตกรุงเทพและปริมณฑล
ปอดของคนเมือง
ในปี พ.ศ. 2549 นิตยสารไทม์เอเชีย (Time Asia) ฉบับ Best of Asia
ยกย่องให้บางกะเจ้าเป็นปอดกลางเมืองที่ดีที่สุดในเอเชีย (The Best Urban Oasis)
จากงานศึกษาวิจัยขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และคณะวนศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2554
ระบุว่าพื้นที่สีเขียวของบางกะเจ้าช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ยปีละประมาณ 6,000
ตันคาร์บอนไดออกไซด์ และผลิตออกซิเจนได้ถึง 6 ล้านตันต่อวัน
ย้อนประวัติศาสตร์
-
ในสมัยอยุธยา สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 กำหนดให้เมืองพระประแดง เป็นหัวเมืองหน้าด่านทางใต้
และหัวเมืองชายฝั่งทะเล
-
สมัยกรุงธนบุรี มีการรื้อกำแพงเมืองพระประแดงมาสร้างวัง
ส่งผลให้เมืองพระประแดงได้หายสาบสูญไปในสมัยนั้น
-
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ทรงโปรดให้มีการสำรวจปากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อสร้างเมืองใหม่ ผลจากการสำรวจ
ได้มีการสร้างป้อมปราการตรงฝั่งซ้ายแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณคลองลัดโพธิ์ ป้อมนี้ชื่อว่า “ป้อมวิทยาคม”
เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์
-
ต่อมาในปีพ.ศ. 2358 สมัยราชกาลที่ 2 ทรงทำพิธีฝังหลักเมืองและพระราชทานนามใหม่ให้เมืองพระประแดง
ว่า เมืองนครเขื่อนขันธ์
-
ในปี พ.ศ. 2458 รัชกาลมที่ 6 ทรงโปรดเกล้าให้เปลี่ยนชื่อเมืองนครเขื่อนขันธ์เป็นเมืองพระประแดง
และยกฐานะเมืองพระประแดงเป็นจังหวัดพระประแดงมี 3 อำเภอ คือ อ. พระประแดง อ. พระโขนง อ.
ราษฎร์บูรณะ
-
ในปี พ.ศ.2475 ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบจังหวัดพระประแดง
โดยให้ให้อ.พระประแดงไปขึ้นกับจังหวัดสมุทรปราการ และอ.ราษฎร์บูรณะและอ.พระโขนงขึ้นกับกรุงเทพมหานคร
วิถีชาวสวนคุ้งบางกะเจ้า
ภายในพื้นที่บางกะเจ้ามีลำคลองตัดผ่านหลายสาย
ชุมชนส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรมแบบยกร่องสวนให้น้ำไหลเข้าช่วงหน้าน้ำ และเก็บไว้ใช้ในหน้าแล้ง
ปลูกพืชผลหลากหลาย ทั้งไม้ผล เช่น หมาก มะพร้าว มะม่วงน้ำดอกไม้ กล้วย ชมพู่มะเหมียว ขนุน ฯลฯ
หรือไม้ประดับที่ให้ใบให้ดอก เช่น หมากแดง หมากผู้หมากเมีย ต้นจั๋ง ฯลฯ