ปัจจุบันพื้นที่คุ้งบางกะเจ้ามีเครือข่ายภาคประชาชน ที่รวมตัวอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวในคุ้งบางกะเจ้า จำนวน 7 เครือข่าย กระจายอยู่ใน 6 ตำบล มีสมาชิกประมาณ 200 คน โดยเครือข่ายภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่สีเขียวที่อยู่ในความดูแลของศูนย์จัดการพื้นที่สีเขียวเชิงนิเวศนครเขื่อนขันธ์ กรมป่าไม้ ประกอบไปด้วย
ชุมชนได้รวมกลุ่มช่วยกันปลูกไม้พื้นถิ่น และดูแลต้นไม้ในพื้นที่ จำนวน 63 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของศูนย์จัดการพื้นที่สีเขียวเชิงนิเวศนครเขื่อนขันธ์ เกิดเป็นสวนป่าชุมชนเมืองสวนป่าเกดน้อมเกล้า
สวนป่าชุมชนเมืองสวนป่าเกดน้อมเกล้า มีการจัดรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยยึดหลักการดำเนินการพัฒนาการท่องเที่ยวบนพื้นฐานของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้คงสภาพเดิมไว้มากที่สุด ละเว้นการเปลี่ยนแปลงสภาพ โดยเฉพาะการสร้างถาวรวัตถุ หรือสิ่งปลูกสร้างถาวร มีการปลูกไม้กินได้ ทั้งไม้ผล ไม้กินใบ และไม้พื้นถิ่น เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับพื้นที่ และนำพืชในท้องถิ่นมาประกอบเป็นอาหารให้กับนักท่องเที่ยวในรูปแบบของ “ผักพื้นบ้านอาหารชุมชน”
ตั้งแต่ปี 2551 ชุมชน ใน ต. บางกะสอบ ได้รวมตัวกัน ในนามอนุรักษ์ “ลำพูบางกะสอบ” โดยขอร่วมพัฒนาพื้นที่ จำนวน 38 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ในอยู่ในความดูแลของศูนย์จัดการพื้นที่สีเขียวเชิงนิเวศนครเขื่อนขันธ์ โดยการอนุรักษ์ไม้ลำพู ซึ่งเป็นไม้พื้นถิ่นในพื้นที่ ทั้งยังปลูก ลำแพน โกงกาง และพันธุ์ไม้หลากหลายชนิดที่อยู่ในระบบนิเวศป่าบึงน้ำจืด และระบบนิเวศป่าชายเลน
รวมทั้งทางกลุ่มฯ ได้ทำความสะอาดร่องสวน เพื่อให้ระบบน้ำไหลเวียนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ผลสำเร็จของการทำกิจกรรมอนุรักษ์ต้นลำพู ไม้พื้นถิ่นชนิดต่าง ๆ และการดูแลทำความสะอาดแหล่งน้ำ จึงทำให้หิ่งห้อยจำนวนมากมายกลับเข้ามาในพื้นที่จนกลายเป็น “หมู่บ้านหิ่งห้อย” ห้องเรียนธรรมชาติเรื่องหิ่งห้อย ริมคลองลัดบางยอ เป็นสถานที่ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนและผู้คนที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้เรื่องราวของระบบนิเวศและความหลากหลายของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และแมลงต่าง ๆ