“ป่า 3 ยุค” คือ ชื่อของเส้นทางจักรยานศึกษาธรรมชาติ ที่จะนำจะนำท่านเข้าสู่ความร่มรื่นสวยงามของพืชพรรณไม้ในสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ให้เพลิดเพลินกับธรรมชาติ อาทิ ซุ้มตีนเป็ด ดงจาก ดงลำพู ตะเคียนทอง และสวนมะพร้าวโบราณ และสัมผัสกับการฟื้นตัวของป่า ทั้งจากฝีมือธรรมชาติและความพยายามในการฟื้นฟูป่าเชิงนิเวศของมนุษย์ เส้นทางนี้มีระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นทางลาดยางและทางดินบดอัด ใช้เวลาประมาณ 45 นาที
ต้นจาก เป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศน้ำกร่อย ซึ่งเกิดขึ้นบริเวณรอยต่อระหว่างแม่น้ำกับทะเลที่ได้รับอิทธิพลจากน้ำขึ้น-น้ำลง พืชที่พบในระบบนิเวศน้ำกร่อยส่วนใหญ่ ได้แก่ ลำพู จาก ปรงทะเล หวายลิง
คนสมัยโบราณจะปลูกต้นจากเป็นแนวกันลมและเป็นหลักฐานในการจับจองที่ดิน ต้นจากที่ริดใบแล้วมักใช้ทำฟืน ใบอ่อนมวนบุหรี่ ใบแก่หน่อยใช้ห่อขนมจาก ส่วนใบแก่มากเย็บเป็นตับจากใช้มุงหลังคาหรือกั้นฝาบ้าน ฯลฯ
สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ ได้จัดแบ่งพื้นที่ 40 ไร่ เพื่อเป็นพื้นที่ศึกษาเรียนรู้การฟื้นฟูป่าเชิงนิเวศ (forest ecological restoration study and learning area) โดยทำการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับระบบธรรมชาติดั้งเดิม มีการจำลองระบบนิเวศป่าดั่งเดิมของคุ้งบางกะเจ้า มาไว้ที่นี้ด้วย ได้แก่
บึงน้ำกร่อยแห่งนี้ น้ำท่วมขังตลอดเวลา พืชบกและพืชน้ำจึงต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม และยังเป็นบ้านและแหล่งอาศัยหากินของสัตว์นานาชนิด
สวนศรีนครเขื่อนขันธ์มีนกเกือบ 100 ชนิด คิดเป็น 1 ใน 10 ของนกที่พบในเมืองไทย มีรูปร่างสีสันสวยงาม มีทั้งนกประจำถิ่น และนกอพยพ
ลำพูชอบขึ้นบนดินเลน แทงรากขึ้นเหนือพื้นดิน เรียกว่า “รากอากาศ” ว่ากันว่าหิ่งห้อยชอบเกาะต้นลำพู เพราะลักษณะเรือนยอดที่สูงโปร่งของต้นลำพู ทำให้แสงไฟที่ก้นของหิ่งห้อยเพศผู้มองเห็นได้ไกล ช่วยส่งสัญญาณสื่อสารให้ตัวเมียเข้ามาผสมพันธุ์ ในสวนศรีนครเขื่อนขันธ์พบหิ่งห้อยบก ซึ่งเป็นชนิดที่หายากพอสมควรในเขตกรุงเทพและปริมณฑล
ป่าที่มีน้ำจืดท่วมแช่ขัง เกิดในพื้นที่ราบต่ำริมฝั่งแม่น้ำ หรือบึงที่มีน้ำท่วมในฤดูฝน และแห้งในฤดูแล้ง ป่าบึงชุ่มน้ำในพื้นที่ศึกษาเรียนรู้การฟื้นฟูป่าเชิงนิเวศ มีพื้นที่ 27.98 ไร่ ต้นไม้ที่นำมาปลูกฟื้นฟูมีถึง 26 ชนิด พันธุ์ที่โดดเด่น เช่น ลำดวน หว้า กันเกรา แคน้ำ ชำมะเลียง ไข่เน่า เป็นต้น
ลักษณะพิเศษของป่าชายเลนน้ำกร่อยปากคลอง คือมีความจืด ความเค็ม ในแต่ละฤดูกาลไม่เท่ากัน พืชพันธุ์ที่สามารถเติบโตได้ จึงต้องปรับตัวตามการขึ้นลงของน้ำตามธรรมชาติ อยู่ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ต้นไม้หลักที่พบมาก คือ ลำพู จาก ปรงทะเล และหวายลิง แตกต่างจากป่าชายเลนริมทะเลที่มี โกงกางเป็นไม้เด่น ป่าชายเลนลักษณะนี้ในพื้นที่ศึกษาเรียนรู้การฟื้นฟูป่าเชิงนิเวศมีพื้นที่ 10.55 ไร่
ในอดีตป่าดิบลุ่มต่ำในคุ้งบางกะเจ้าจะพบบริเวณพื้นที่ดอนสูง อาจมีน้ำท่วมถึงในฤดูน้ำหลากแต่ไม่แช่ขัง ซึ่งมีพื้นที่ไม่มากนักในคุ้งบางกระเจ้า สภาพดั้งเดิมมีไม้สกุลยาง เช่น ยางนา ตะเคียนทอง พะยอม การฟื้นฟูป่าดินลุ่มต่ำในพื้นที่ศึกษาเรียนรู้การฟื้นฟูป่าเชิงนิเวศ พื้นที่น้อยเพียง 3.63 ไร่ จึงเลือกปลูกต้นไม้ที่ลักษณะใกล้เคียงไม้ดั้งเดิม จำนวน 15 ชนิด ได้แก่ ยางนา ตะเคียนทอง พะยอม ลำดวน มะเกลือ หว้า กันเกรา มะม่วง แคนา จันทน์หอม จำปา มะพลับ อบเชย มะกล่ำต้น และเลือดควาย