EN TH

เรียนรู้การฟื้นฟูป่าเชิงนิเวศ

       พื้นที่สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ บริเวณพื้นที่ศึกษาเรียนรู้การฟื้นฟูป่าเชิงนิเวศ เนื้อที่ 40 ไร่ เดิมเคยเป็นที่อาศัยของชุมชน มีการทำเกษตรแบบยกร่องสวน ต่อมา สวนผลไม้บนคันคู ร่องสวนถูกแทนที่ด้วยไม้โตเร็ว วัชพืชและไม้ต่างถิ่นที่ถูกพัดพามากับสายน้ำ ด้วยลักษณะพิเศษเฉพาะนี้ การปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับมามีความสมบรูณ์แต่ยังต้องคงไว้ซึ่งการเป็นสวนหลังบ้าน จึงจำเป็นที่จะต้องมีวิธีการฟื้นฟูป่าที่แตกต่างออกไปจากวิธีการฟื้นฟูป่าปกติ

แนวคิด

       เป็นการปลูกฟื้นฟู ที่คำนึงถึงความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศดังเดิม รวมถึงต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น มุ่งเน้นฟื้นฟูให้ระบบนิเวศดั้งเดิมของพื้นที่กลับคืนมา ทั้งในแง่ของโครงสร้างของป่า ผลผลิต และความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ เมื่อเวลาผ่านไปกระบวนการทางนิเวศแบบดั้งเดิมจะกลับมาอีกครั้ง ในพื้นที่ศึกษาเรียนรู้การฟื้นฟูป่าเชิงนิเวศได้จำลองระบบนิเวศดั้งเดิมของคุ้งบางกะเจ้ามาไว้ที่นี้ ประกอบไปด้วย ป่า 3 ชนิด

ป่าบึงชุ่มน้ำ

       ป่าบึงชุมน้ำในพื้นที่ศึกษาเรียนรู้การฟื้นฟูป่าเชิงนิเวศ ต้นไม้ที่ปลูกฟื้นฟูมีถึง 26 ชนิด พันธุ์ที่โดดเด่น ได้แก่ ลำดวน หว้า กันเกรา แคน้ำ ยางนา พะยอม ชำมะเลียง ไข่เน่า เป็นต้น

ป่าดิบลุ่มน้ำ

       ปลูกต้นไม้ 15 ชนิด ได้แก่ ยางนา ตะเคียนทอง พะยอม ลำดวน มะเกลือ หว้า กันเกรา มะม่วง แคนา จันทน์หอม จำปา มะพลับ อบเชย มะกล่ำต้น และเลือดควาย ในอนาคตพื้นที่นี้จะเป็นป่าที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่สูง มีเรือนยอดแผ่กว้างร่มเย็น

ป่าชายเลนริมน้ำ

       ปลูกต้นไม้ 13 ชนิด ได้แก่ ลำพู โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ ถั่วดำ ถั่วขาว ตะบูนดำตะบูนขาว ปอทะเล โพทะเล แคทะเล หลุมพอทะเล จิกทะเล และหยีทะเล ถั่วดำ ถั่วขาว โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ ลำพู ตะบูนดำและตะบูนขาว ซึ่งเมื่อเติบโตเต็มที่แล้วจะเป็นตัวแทนของป่าชายเลนได้เป็นอย่างดี

วิธีการฟื้นฟูป่าเชิงนิเวศ

  • การคัดเลือกพรรณไม้ท้องถิ่นที่สอดคล้องกับระบบนิเวศ และทนเค็ม
  • การเตรียมหลุมปลูก ขนาดกว้างกว่าตุ้มดิน 1.5 เท่า และมีความลึกกว่าตุ้มดิน 1.5 เท่า บำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี
  • การปลูกฟื้นฟูป่าคำนึงถึงความหลากหลายชนิดพันธุ์ และระดับชั้นเรือนยอด เนื่องจากพรรณไม้แต่ละชนิดมีหน้าที่และความสามารถที่แตกต่างกัน เช่น ชอบแดดจัด ชอบร่ม เป็นพืชอาหารสัตว์ ป้องกันดินพังทลาย เป็นต้น

เมื่อป่าที่ปลูกเติบโต

       หลังจากการนำต้นไม้จำนวนหลายพันต้น หลายสิบชนิดเข้ามาปลูกฟื้นฟู ในที่สุดระบบนิเวศอันหลากหลายก็จะปรากฏให้เราเห็นชัด โครงสร้างป่าที่สมบูรณ์อันประกอบด้วยไม้พื้นล่าง เช่น กูดบ้าน ลำเท็ง ไม้พุ่มขนาดเล็ก หรือไม้ยืนต้นขนาดกลาง เช่น ข่อย พิลังกาสา มะขามเทศ หว้า และอื่นๆ